Thursday, July 16, 2015

องค์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์

    จากภาพเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เรามองเห็นภายนอก  จะเห็นว่าประกอบด้วยชิ้นส่วนที่สำคัญได้แก่จอภาพ,
case, แป้นพิมพ์, เมาส์, เครื่องพิมพ์ เป็นต้น  โดยที่แต่ละชิ้นส่วนเชื่อมต่อกันด้วยสายเคเบิล เข้าที่ด้านหลังของ case  เมื่อเรา
ใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่นใช้พิมพ์งาน ก็จะต้องพิมพ์ผ่านแป้นพิมพ์เข้าไป จากนั้นตัวอักษรที่เราพิมพ์ก็จะแสดงขึ้นที่
จอภาพ ถ้าต้องการจัดเก็บข้อมูล ก็อาจจัดเก็บไว้ที่ฮาร์ดดิสก์ หรือ ฟลอปปี้ดิสก์ ซึ่งสามารถนำมาแก้ไขได้อีกในภายหลัง
    แล้วชิ้นส่วนต่างๆ ที่มองเห็นมีการทำงานอย่างไร?  ก่อนอื่นเราลองมองวิธีการส่งผ่านข้อมูลเข้าไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์
จากภาพต่อไปนี้

               

    เมื่อเรากดปุ่มตัวอักษรบนแป้นพิมพ์   เราเรียกว่าเป็นการนำข้อมูลเข้าไปยังเครื่อง (Input)   จากนั้นส่วนประกอบอื่นที่สำคัญ
ได้แก่ Memory และ CPU  ที่บรรจุอยู่ภายใน case  ก็จะทำหน้าที่ประมวลผล (process) เช่นแสดงตัวอักษรที่ถูกพิมพ์นั้นออกมา
ทางจอภาพ เรียกว่าเป็นการนำข้อมูลออกจากเครื่อง (Output) และข้อมูลตัวอักษรนั้นก็จะถูกเก็บไว้อย่างชั่วคราวที่ Memory
ระหว่างที่เรากำลังใช้งานโปรแกรมที่ใช้พิมพ์งานนั้นอยู่
    สังเกตว่า สิ่งที่จะทำให้เราสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ได้อย่างสมบูรณ์นั้นประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่
    1. Hardware ได้แก่เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่น ๆ เช่นเครื่องพิมพ์

    2. Software ได้แก่โปรแกรมชนิดต่าง ๆ สำหรับใช้งานตามต้องการ ในที่นี้ได้แก่โปรแกรมที่ใช้พิมพ์งาน

    ดังนั้นกล่าวได้ว่าองค์ประกอบที่สำคัญ มีดังนี้
        1. หน่วยประมวลผลกลาง (CPU : Central Processing Unit)
        2. หน่วยความจำ (Memory)
        3. อุปกรณ์รับส่งข้อมูล (I/O device)
    ต่อไปนี้เราจะมาศึกษาองค์ประกอบเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น

2.1 หน่วยประมวลผลกลาง (CPU)

    มีหน้าที่ในการประมวลผล อาจเรียกย่อๆ ว่า โปรเซสเซอร์ (Processer)   ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่
2.1.1 หน่วยคำนวณและตรรกะ (ALU : Arithmetic Logic Unit)
    ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคำนวณทางคณิตศาสตร์และทางด้านตรรกศาสตร์ ได้แก่การเปรียบเทียบ  ซึ่งข้อมูลที่ ALU
ใช้จะต้องอยู่ในรูปเลขฐานสองเท่านั้น โดยจะอ่านข้อมูลที่จะใช้ในการคำนวณจากหน่วยความหลัก (Memory)
ไปไว้ในรีจิสเตอร์ (Register) ซึ่งเป็นส่วนของ CPU ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นกระดาษทดชั่วคราว และการประมวลผล
ต่างๆ จะต้องกระทำเฉพาะกับข้อมูลที่ถูกใส่ไว้ในรีจิสเตอร์เท่านั้น จากนั้นผลการคำนวณก็จะถูกเคลื่อนย้ายจาก
รีจิสเตอร์กลับไปยังหน่วยความจำหลักเช่นเดิม
2.1.2 หน่วยควบคุม (Control Unit)
    ทำหน้าที่ควบคุมลำดับขั้นตอนของการทำงาน รวมถึงการประสานงานกับอุปกรณ์รับส่งข้อมูล ซึ่งในการทำงานของ
เครื่องคอมพิวเตอร์ ในคำสั่ง 1 คำสั่งจะประกอบด้วยขั้นตอนที่ทำงานจริงๆหลายขั้นตอน ซึ่งเรียกแต่ละขั้นตอนว่า
รอบการทำงาน (machine cycle หรือ machine operation) โดยที่อัตราความเร็วของแต่ละรอบการทำงานจะถูกควบคุม
ด้วยสัญญาณนาฬิกาภายในเครื่อง นาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์นี้มีความเร็วมากคือ 1 ติ๊ก (pulse) ของนาฬิกาจะเร็วประมาณ
0.00000001 วินาที หรืออีกนัยหนึ่ง ในช่วงเวลา 1 วินาที นาฬิกานี้จะติ๊กเป็นล้านๆครั้ง เรียกหน่วยการวัด 1 ล้านติ๊กต่อ
วินาทีว่า เมกะเฮิร์ตซ์ (megahertz) หรือ Mhz  เช่น เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ที่มีความเร็ว 16 Mhz ซึ่งหมายความว่า
ความถี่ของนาฬิกาคือ 16 ล้านครั้งต่อวินาที ดังนั้นความเร็วในการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นอยู่กับความถี่ของ
สัญญาณนาฬิกา และแต่ละรอบการทำงานของแต่ละคำสั่งที่ส่งให้กับ CPU ก็จะกินเวลาเป็นจำนวนติ๊กคงที่ ขึ้นอยู่กับ
ชนิดและความซับซ้อนของคำสั่งในทางปฏิบัติ ได้มีหลายบริษัทที่ผลิตโปรเซสเซอร์ แต่บริษัทที่สำคัญคือ Intel ซึ่ง
พัฒนาโปรเซสเซอร์จากรุ่น 8088  (8 bits) ในปีค.ศ.1972 มาเป็นรุ่น 8086 (16 bits) ในปีค.ศ.1978 และตามมาด้วย
80186, 80286,80386,80486 ซึ่งมักจะเรียกชื่อเฉพาะเลขสามตัวหลัง เช่นรุ่น 386,486 และรุ่นที่กำลังนิยมในประเทศไทย
(ปี ค.ศ.1996) ก็คือรุ่น Pentium และรุ่นล่าสุดในปี 1998 คือ Pentium II

2.2 หน่วยความจำ (Memory)

    เป็นหน่วยเก็บข้อมูลหลักระหว่างการประมวลผล นั่นคือจะเก็บข้อมูลก่อนและหลังการประมวลผลเพื่อให้เข้าใจความหมาย
ของหน่วยความจำมากขึ้นอาจเปรียบเทียบหน่วยความจำได้กับโต๊ะการทำงานของเรา โดยถ้าเราเป็นโปรเซสเซอร์ ข้อมูลต่างๆ
เช่นเอกสารที่ต้องใช้ ก็จะวางอยู่บนโต๊ะ ดังนั้นถ้าโต๊ะมีขนาดใหญ่  ขณะหนึ่งเราก็สามารถวางเอกสารต่างๆไว้ได้มาก นั่นคือ
หน่วยความจำขนาดใหญ่ ทำให้สามารถใช้งานโปรแกรมขนาดใหญ่ได้ (ในปัจจุบันโปรแกรมส่วนมากมักมีขนาดใหญ่และต้องการ
เครื่องที่มีหน่วยความจำ, หน่วยเก็บข้อมูลสำรอง (Hard disk) และความเร็วในการทำงานสูง )

    ในทางปฏิบัติ หน่วยความจำ แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
2.2.1 หน่วยความจำอ่านอย่างเดียว (ROM : Read Only Memory)
    ใช้เก็บโปรแกรมระบบ ซึ่งใช้อ่านได้อย่างเดียว ไม่ลบเลือนเมื่อปิดเครื่องคอมพิวเตอร์
2.2.2 หน่วยความจำเข้าถึงโดยสุ่ม (RAM : Random Access Memory)
    ใช้เก็บโปรแกรมระหว่างการประมวลผล ซึ่งข้อมูลที่เก็บอยู่จะลบเลือนไปเมื่อไฟดับ หรือปิดเครื่อง
ขนาดของหน่วยความจำ
    วัดด้วยจำนวนอักขระ หรือ ไบต์ (Byte) ที่สามารถเก็บลงไปในหน่วยความจำได้ ดังนี้
        ขนาด 1024 bytes เท่ากับ 1 KB (kilo bytes)       
        ขนาด 1024 x 1024 bytes เท่ากับ 1 MB (mega bytes)       
        ขนาด 1024 x 1024 x 1024 bytes เท่ากับ 1 GB (giga bytes)       
    หมายเหตุ  1 byte ประกอบด้วยหน่วยย่อยของข้อมูลที่เรียกว่า bit จำนวน 8 bits

หน่วยเก็บข้อมูลสำรอง (Secondary Storage)
    หลังการประมวลผลข้อมูลซึ่งข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ในหน่วยความจำหลักจะต้องถูกย้ายมาเก็บที่หน่วยความจำสำรอง ซึ่งแบ่ง
ได้เป็น 2 ประเภทคือ
    1) สื่อแบบเข้าถึงโดยตรง (direct access media) เป็นสื่อที่สามารถจัดเก็บและเรียกใช้ข้อมูลที่ต้องการได้โดยตรงโดยไม่ต้อง
อ่านเรียงลำดับ  ได้แก่ ดิสก์(disk),  CD ROM
    2) สื่อแบบเข้าถึงลำดับ (sequential access media) เป็นสื่อที่ต้องมีการจัดเก็บและเรียกใช้ข้อมูลโดยการเรียงลำดับ เช่น
เทปแม่เหล็ก (magnetic tape), ดิสก์ (Disk)
    ดิสก์มีลักษณะเป็นแผ่นกลมแบนที่ถูกเคลือบไว้ด้วยวัสดุที่สามารถทำให้เกิดสนามแม่เหล็กได้ สามารถแบ่งออกเป็น       
2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
    (1) ฮาร์ดดิสก์ (Hard disk)
    (2) ฟลอปปี้ดิสก์ (Floppy disk) หรือดิสเกตต์ (Diskette)   
    ฟลอปปี้ดิสก์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมีอยู่ 3 ขนาด คือ 8 นิ้ว, 5 1/4 นิ้ว และ 3 1/2นิ้ว และตัวอ่านดิสก์ (disk drive) จะจัดเก็บ
ข้อมูลตามแนวของเส้นรอบวง ซึ่งเรียกว่า แทร็ก (track) ในแต่ละแทร็กถูกแบ่งออกเป็น เซกเตอร์ (sector) โดยในการ
อ่านข้อมูลแต่ละครั้งจะกระทำทีละ 1 เซกเตอร์เสมอโดยที่ฮาร์ดดิสก์จะจุข้อมูลได้มากกว่าและมีความเร็วกว่าฟลอปปี้ดิสก์   
สำหรับกระบวนการในการสร้างเซกเตอร์ลงบนดิสก์นั้น ก็แตกต่างกันไปตามประเภทของดิสก์ เช่น ในฮาร์ดดิสก์ จะมีการสร้าง
สนามแม่เหล็กแบบพิเศษในส่วนที่เป็นจุดเริ่มต้นของแต่ละแทร็ก ส่วนดิสเกตต์นั้นจะใช้การเจาะรู (sensing hole) เป็นตัวระบุ
บอกตำแหน่งของเซกเตอร์
    ในทางปฏิบัติ การสร้างเซกเตอร์ลงบนดิสก์ เรียกว่าการฟอร์แมต (format) ซึ่งจะทำได้โดยเรียกใช้คำสั่ง DOS  หรืออาจซื้อแผ่น
ดิสเกตต์ที่ผ่านการฟอร์แมตจากโรงงานแล้วเรียบร้อย ซึ่งจะมีข้อความ formatted ติดอยู่ที่แผ่น
ผลของการฟอร์แมตดิสก์ทำให้เกิดแทร็กและเซกเตอร์ ดังรูป

                            

    ประเภทของฟลอปปี้ดิสก์ยังแบ่งออกได้ตามขนาดความจุ ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนด้านในการใช้งาน(side) และความหนาแน่น
ของการบรรจุข้อมูล (density) เช่นแบบเท่าเดียว(single density), แบบสองเท่า(double density)  หรือ แบบ 4 เท่า (quad density) ซึ่งจะระบุเอา
ไว้บนแผ่นเช่น DS HD หมายถึง Double Side High Density
    ส่วนดิสก์ไดร์ฟ (disk drive) คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการอ่านและเขียนข้อมูลกับดิสก์ โดยจะประกอบด้วยหัวสำหรับอ่านเขียน
เรียกว่า หัวอ่าน  ในคอมพิวเตอร์บางระบบอาจนำแผ่นดิสก์หลายๆแผ่นมาเรียงซ้อนกัน เรียกว่า ชุดดิสก์ (disk pack)  ซึ่งจะต้องมีหัวอ่านหลายๆ
หัวด้วย
ซีดี รอม (CD ROM)
    เลเซอร์ดิสก์ เป็น สื่อเก็บข้อมูลที่มีความเร็วในการใช้งานสูงและสามารถเก็บข้อมูลได้เป็นจำนวนมาก มีลักษณะเหมือนกับ
คอมแพคดิสก์ (แผ่น CD) ที่เราใช้ฟังเพลง หรือเลเซอร์ดิสก์ที่ใช้ดูวิดีโอ เลเซอร์ดิสก์ 1 แผ่นสามารถเก็บข้อมูลได้ตั้งแต่ 500 MB ถึง 1 GB  และ
ยังเป็นสื่อเก็บข้อมูลที่ใช้อ่านได้อย่างเดียว มักเรียกเลเซอร์ดิสก์ว่า CD ROM (Compact Disk Read Only Memory)
เทปแม่เหล็ก (Magnetic Tape)
    เทปแม่เหล็ก เป็นสื่อเก็บข้อมูลที่มีราคาถูกและความจุข้อมูลสูง การทำงานของเทปไดรฟ์ (Tape drive) มีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่อง
บันทึกเทป (cassette tape) ส่วนใหญ่มักใช้สำหรับเก็บข้อมูลสำรอง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เทปชนิดม้วน (reel) และเทปชนิดตลับ หรือเทป
คาร์ทริดจ์ (cartrige)

การเลือกใช้สื่อบันทึกข้อมูลที่เหมาะสม

เทป

   

ดิสก์

1) การใช้งานไม่คำนึงถึงความเร็ว

   

1) ต้องการค้นหาข้อมูลโดยตรง

2) ใช้เป็นสื่อเก็บข้อมูลสำรอง

   

2) มีปริมาณข้อมูลไม่มาก

3) ใช้เก็บข้อมูลที่มีปริมาณมาก

   

3) ต้องการทำงานให้เสร็จในเวลาจำกัด

การดูแลรักษาแผ่นดิสเกตต์
    1) เวลาใช้งานควรใส่ diskette อย่างระมัดระวัง และใส่เข้าไปในไดร์ฟในแนวตั้งฉากกับเครื่อง
    2) ห้ามจับหรือนำอุปกรณ์ใดๆ ไปแตะต้องส่วนที่เป็นจานแม่เหล็ก
    3) ห้ามบิดงอ diskette
    4) ห้ามวางของหนักทับ
    5) ไม่ควรทิ้งแผ่น diskette ไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ในที่มีฝุ่นละออง ใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ใกล้สนามแม่เหล็ก และที่มี
แสงแดดส่อง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลเสียหาย เช่น ไม่ควรวางทิ้งไว้ในรถขณะจอดอยู่กลางแสงแดด หรือหลังการใช้
งานเสร็จก็ไม่ควรวางบนตัวเครื่อง
    6) ไม่ควรใช้ปากกา ดินสอ เขียนข้อความต่างๆ ลงในฉลากที่ติดอยู่บนแผ่น diskette เพราะอาจทำให้เกิดรอยขีดข่วนบนแผ่น  
ดังนั้นจึงควรเขียนฉลากให้เรียบร้อยก่อนจึงนำไปติดบนแผ่น  หรือถ้าจำเป็นต้องเขียนภายหลังติดฉลากจริงๆ   อาจเขียน
ด้วยปากกาเมจิกชนิดที่ไม่ต้องออกแรงกดลงบนกระดาษ
    7) ไม่ควรนำแผ่น diskette ออกจากเครื่องในขณะที่หัวอ่านกำลังทำงานอยู่ ซึ่งจะสังเกตได้จากไฟที่ตัว disk drive ถ้าหัวอ่าน
กำลังทำงานจะมีไฟปรากฏอยู่
    8) ก่อนนำแผ่นโปรแกรมออกจากเครื่อง ควรออกจากการทำงานในโปรแกรมให้เรียบร้อยก่อน
    9) ควรเก็บแผ่น diskette ไว้ในซองทุกครั้งหลังใช้งานและเก็บไว้ในที่อุณหภูมิไม่สูงเกินไป
    10) ควรทำการสำรองข้อมูลที่สำคัญไว้ทุกครั้งในแผ่น diskette   อีกแผ่นเพื่อป้องกันความผิดพลาดกรณีแผ่นเสีย
    11) ทำ write protect ไว้ในแผ่นข้อมูลที่สำคัญ เพื่อป้องกันการเขียนข้อมูลทับข้อมูลเดิม
    12) หมั่นตรวจสอบไวรัสคอมพิวเตอร์อยู่เสมอ  โดยเฉพาะเมื่อมีการคัดลอก (copy) โปรแกรมจากแผ่นที่นำมาจากที่อื่น

มารยาทในการใช้โปรแกรมในแผ่นดิสก์
    1) ในหน่วยงานธุรกิจควรใช้โปรแกรมที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์การซื้อขาย
    2) เมื่อมีการยืมแผ่นดิสเกตต์จากผู้อื่นควรป้องกันการเขียนทับข้อมูลเดิมหรือการติดไวรัส ด้วยการปิด write protect ไว้
เสมอ

2.3 อุปกรณ์รับส่งข้อมูล (Input/Output)

    อุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านสายเคเบิลเข้าด้านหลังของเครื่องคอมพิวเตอร์ จะต่อเข้ากับส่วนที่เรียกว่า
"I/O Port" ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อของข้อมูลที่ถูกส่งผ่านจากสายเคเบิลเข้ามายังตัวเครื่อง I/O port เป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์แปลง
สัญญาณข้อมูลชนิดที่ส่งมาจากสายเคเบิลที่ต่อกับอุปกรณ์หลายประเภทให้เป็นข้อมูลชนิดที่คอมพิวเตอร์เข้าใจ
    การรับส่งข้อมูลของเครื่องคอมพิวเตอร์ มี 2  ประเภท คือ
2.3.1 การรับส่งข้อมูลภายในเครื่อง
    เช่นการรับส่งข้อมูลระหว่าง CPU กับ memory, memory กับ I/O port จะส่งผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า Bus
2.3.2 การรับส่งข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์
    อาจเป็นการส่งข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นๆ เช่น เครื่องพิมพ์, modem จะส่งผ่านช่องสื่อสาร           ที่เรียกว่า port ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
    1) พอร์ตอนุกรม (Serial port) รับส่งข้อมูลได้ทีละ 1 bit เช่นการส่งข้อมูลให้กับ modem
    2) พอร์ตขนาน (Parallel port) รับส่งข้อมูลได้ทีละ 8 bit เช่นการส่งข้อมูลให้กับเครื่องพิมพ์
อุปกรณ์นำเข้าข้อมูล (Input) ได้แก่
    แป้นพิมพ์ (keyboard) - มีชนิด 84 keys และ 101 keys
    สแกนเนอร์(scanner) - เช่นเครื่องสแกนบาร์โค๊ด, เครื่องสแกนภาพ
    เมาส์ (mouse) 
    joy stick
    ปากกาแสง (lignt pen)
    ไมโครโฟน
อุปกรณ์แสดงผล (Output) ได้แก่
    จอภาพ - จะอาศัยการ์ดแสดงผล (display adapter) เพื่อจัดการเกี่ยวกับการแสดงผลทางจอภาพต่างๆ    โดยแปลงสัญญาณ
คอมพิวเตอร์ให้เป็นสัญญาณที่ใช้แสดงทางจอภาพ การ์ดดังกล่าวมีหลายชนิดซึ่งทำให้คุณภาพของการแสดงผลแตกต่างกัน เช่น
        monochrome : สามารถแสดงภาพสีเดียว และแสดงได้เฉพาะตัวอักษร
        hercules : แสดงภาพสีเดียว, แสดงได้ทั้งตัวอักษรและภาพกราฟฟิค
        CGA : แสดงได้ทั้งตัวอักษร และภาพกราฟฟิค
        EGA : ใช้ได้กับจอภาพชนิดสีเดียว และหลายสี
        VGA : มีความสามารถสูงกว่าชนิดที่ผ่านมา เช่น มีความละเอียดมากขึ้น
    เครื่องพิมพ์ - มีชนิด dot matrix, ink jet, laser เป็นต้น
    พลอตเตอร์
    ลำโพง
    Data Viewer -     เป็นอุปกรณ์ถ่ายทอดข้อมูลที่แสดงบนจอภาพให้ปรากฏผ่านเครื่องฉายแผ่นใส (over head) ได้ ทำให้ผู้ฟัง
สามารถมองเห็นจอภาพของผู้พูดไปได้พร้อมกัน
    Video Projector - เป็นอุปกรณ์ถ่ายทอดข้อมูลที่แสดงบนจอภาพเช่นกัน แต่สามารถฉายภาพนั้นไปยังฉากได้ทันที ทำให้ได้
ภาพได้ชัดเจนมากกว่า แต่ก็มีราคาแพงกว่ามาก
อุปกรณ์ที่เป็นทั้ง Input และ Output ได้แก่
    โมเด็ม (modem)-เป็นอุปกรณ์ในการแปลงสัญญาณข้อมูลจากเครื่อง    คอมพิวเตอร์ที่เป็นสัญญาณดิจิตอลให้เป็นสัญญาณ
อนาลอกเพื่อให้ส่งไปตามสายสื่อสารรวมทั้งแปลงจากสัญญาณอนาลอกให้กลับเป็นสัญญาณดิจิตอลเช่นเดิม
ซึ่งราคาของโมเด็มพิจารณาจากความเร็วในการส่งข้อมูลรวมทั้งคุณสมบัติเพิ่มเติมอื่นๆที่จำเป็นในทางสื่อสาร
นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์อื่นๆที่น่าสนใจ และมีขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ ซึ่งสามารถค้นคว้าได้ใน
วารสารทางคอมพิวเตอร์ต่างๆที่มีในปัจจุบัน เช่นวารสารไมโครคอมพิวเตอร์, คอมพิวเตอร์รีวิว, ไอทีซอฟต์ เป็นต้น

ความหมายของโฆษณาทางคอมพิวเตอร์
    เพื่อให้สามารถเข้าใจความหมายของโฆษณาที่มีอยู่อย่างมากมายในปัจจุบัน และเป็นประโยชน์ในการเลือกซื้อจึงขอยกตัวอย่าง
โฆษณาดังนี้

    Belta OL-IX23
    Minit Tower Case
    Intel Pentium 233 Mhz (MMX)
    RAM 32 MB
    HDD 3.2 GB    
    FDD 1.44 MB (3.5")
    24X Speed CD-ROM
    15" Color Monitor
    Speaker with 3D Sound+Treble+Bass
   

     จะเห็นว่าเป็นการโฆษณาเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ Belta  รุ่น OL-IX23    มีลักษณะแบบ Tower Case,  ใช้โปรเซสเซอร์ รุ่น
Pentium มีความเร็ว 233 Mhz , มีหน่วยความจำ (Memory) 32 Mega Bytes , มี harddisk ขนาด 3.2 Giga Bytes , มี drive 2 ขนาด
คือ drive สำหรับแผ่นดิสก์ขนาด 3.5นิ้ว ความจุ 1.44 Mega Bytes และ drive สำหรับแผ่น CD ที่มีความเร็วในการอ่านข้อมูลเป็น
24 เท่าของความเร็วของ CD drive รุ่นแรก (ที่มีความเร็ว 150 Kilo Bytes ต่อวินาที) ดังนั้น CD drive นี้จึงมีความเร็วเท่ากับ
24 X 150 = 3600 Kilo Bytes ต่อวินาที, ใช้จอภาพสีขนาด 15 นิ้ว และมีลำโพงที่ปรับเสียงได้


0 comments:

Post a Comment

Subscribe to RSS Feed Follow me on Twitter!