-
ดอส เป็นระบบปฏิบัติการบนเครื่องพีซีสำหรับเครื่องไอบีเอ็ม
หรือไอบีเอ็มคอมแพตติเบิ้ลที่เคยเป็นที่นิยมใช้งานมากในอดีตหรือแม้แต่ใน
ปัจจุบันก็ยังมีการใช้งานกันอยู่
ดอสเป็นระบบปฏิบัติการที่มีลักษณะการทำงานเป็นแบบงานเดียว ( Single task)
ซึ่งหมายความว่าขณะที่มีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานใดอยู่นั้น
จะต้องรอจนกว่างานนั้นจะเสร็จก่อนจึงจะสามารถใช้คอมพิวเตอร์ทำงานอย่างอื่น
ต่อไป ตัวอย่างเช่น ถ้าสั่งให้คอมพิวเตอร์พิมพ์ไฟล์ออกทางเครื่องพิมพ์
ก็จะต้องรอจนกว่าการพิมพ์นั้นจะเสร็จสิ้นจึงจะสามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์
ทำงานอื่นต่อไปได้
ดอส เป็นระบบปฏิบัติการที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากในหมู่ผู้ใช้ เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ เป็นผลงานของบริษัทไมโครซอฟต์คอร์เปอร์เรชั่น( Microsoft Corporation) ความเป็นมาของเอ็มเอสดอสเริ่มจากที่บริษัทไอบีเอ็ม(IBM) ได้สร้างเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์มีชื่อว่าพีซี (PC:personal computer) และว่าจ้างบริษัทไมโครซอฟต์ให้ช่วยออกแบบระบบปฏิบัติการของเครื่องพีซีนี้ โดยใช้ชื่อว่าพีซีดอส (PC-DOS) เครื่องพีซีได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนมีบริษัทอื่น ๆ สร้างเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์เลียนแบบเครื่องไอบีเอ็ม ซึ่งสามารถทำงานได้เหมือนกัน เป็นเครื่องแบบเดียวกัน เรามักนิยมเรียกเครื่องที่สร้างเลียนแบบนี้ว่า “ เครื่องคอมแพตติเบิ้ล” (compatible) ถ้าเครื่องคอมแพตติเบิ้ลต้องการทำงานให้เหมือนกับพีซีของไอบีเอ็มแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบปฏิบัติการที่เหมือนกัน แต่พีซีดอสเป็นลิขสิทธ์ของไอบีเอ็มที่ขายให้กับผู้ใช้เครื่องของไอบีเอ็ม เท่านั้น ดังนั้นบริษัทไมโครซอฟต์จึงสร้างระบบปฏิบัติการใหม่ออกสู่ตลาด เพื่อให้เครื่องคอมแพตติเบิ้ลทั้งหลายได้ใช้ มีชื่อว่า เอ็มเอสดอส (MS-DOS) โดยไมโครซอฟต์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งเอ็มเอสดอสและพีซีดอสนี้ความจริงแล้วเหมือนกัน เป็นระบบปฏิบัติการตัวเดียวกัน เพียงแต่เรียกชื่อต่างกันเท่านั้นเอง (ด้วยเหตุผลเชิงพาณิชย์ที่กล่าวมา) เอ็มเอสดอสหรือพีซีดอสได้ถูกพัฒนาออกมาหลายเวอร์ชั่น โดยมีขีดความสามารถมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในเวอร์ชั่นหลัง ๆ ไอบีเอ็มได้แยกพัฒนาพีซีดอสด้วยตนเอง ทำให้พีซีดอสและเอ็มเอสดอสในเวอร์ชั่นหลัง ๆ มีความแตกต่างกัน (ซึ่งมักจะต่างกันทางด้านความสามารถพิเศษต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วยังคงเหมือนกันอยู่)
ดอสมีต้นกำเนิดมาจากระบบปฏิบัติการ CP/M ที่ใช้กับเครื่อง 8 บิตในสมัยก่อน แต่ปัจจุบัน CP/M ไม่มีใช้กันแล้วบนเครื่องพีซี เนื่องจากการเข้ามาของดอสตัวใหม่ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เพื่อให้ทันกับความสามารถของฮาร์ดแวร์ที่สูงขึ้น ปัจจุบันดอสที่เป็นที่รู้จักและยังเป็นที่นิยมใช้งานอยู่ได้แก่
- MS-DOS เป็นระบบปฏิบัติการบนเครื่องพีซีจากบริษัทไมโครซอฟต์ ซึ่งสามารถใช้งานกับเครื่องพีซี ตั้งแต่ 16 บิตขึ้นไป โดย “MS” ย่อมาจาก Microsoft
- PC-DOS เป็นระบบปฏิบัติการที่พัฒนาขึ้นมาโดยความร่วมมือระหว่างบริษัทไมโครซอฟต์และ ไอบีเอ็ม เพื่อให้สามารถใช้กับเครื่องของไอบีเอ็มโดยเฉพาะ โดย “PC” ย่อมาจาก “Personal Computer”
- Novell’s DOS เป็นระบบปฏิบัติการที่พัฒนาขึ้นมาให้มีความสามารถทางด้านเครือข่าย ถูกพัฒนาขึ้นมาจาก DR-DOS ที่สร้างโดยบริษัท Digital Research
โดยทั่วไปซอฟต์แวร์เกือบทุกประเภทจะมีตัวเลขอยู่หลังชื่อซอฟต์แวร์นั้น เพื่อแสดงถึงเวอร์ชั่นที่มีการพัฒนา ยิ่งเวอร์ชันสูงมากขึ้นเท่าไรความสามารถของซอฟต์แวร์นั้นก็จะยิ่งเพิ่มมาก ขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ประสิทธิ-ภาพของฮาร์ดแวร์ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วได้ดี ยิ่งขึ้น
ปัจจุบันบริษัทไอบีเอ็มได้เลิกพัฒนาพีซีดอสแล้ว แต่หันไปสร้างระบบปฏิบัติการโอเอสทูขึ้นมา ส่วนบริษัทไมโครซอฟต์ยังคงพัฒนาเอ็มเอสดอสของตนต่อไปอีก เนื่องจากยังมีผู้นิยมใช้กันอยู่เป็นจำนวนมาก ในหัวข้อนี้จะกล่าวถึงลักษณะทั่ว ๆ ไปที่มีเป็นของทั้งเอ็มเอสดอสและพีซีดอส และจะขอเรียกสั้น ๆ ว่า “ ดอส” ตามที่นิยมเรียกกัน
-
การจัดการโปรเซส
เนื่องจากดอสเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับผู้ใช้คนเดียว ( single user) ทำงานครั้งละหนึ่งงาน (single program) ทำให้การควบคุมระบบค่อนข้างง่าย คือ รับงานจากผู้ใช้ ส่งมอบการควบคุมให้กับโปรแกรมของผู้ใช้จนกระทั่งโปรแกรมจบ แล้วกลับมาควบคุมระบบต่อ (รอรับงานต่อไป) จะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้แนวความคิดเรื่องโปรเซสให้ยุ่งยาก แต่ถ้าหากต้องการจะมองในแง่ของการจัดการโปรเซสของดอสแล้ว ก็อาจแสดงได้อย่างง่าย ๆ เริ่มจากเมื่อผู้ใช้ส่งงานระบบดอสจะให้โปรเซส (โปรแกรม) ทำงาน การทำงานของโปรเซสจะมีอยู่เพียง 2 สถานะคือสถานะรัน หมายถึงโปรเซสกำลังครอบครองซีพียูอยู่ และสถานะติดขัด หมายถึง โปรเซสกำลังรอเหตุการณ์บางอย่าง เช่น การทำงานของอุปกรณ์อินพุต-เอาต์พุต เป็นต้น ในระหว่างที่โปรเซสอยู่ในสถานะติดขัดซีพียูจะว่าง เพราะอยู่ในระบบมีอยู่เพียงโปรเซสเดียว โปรเซสจะเปลี่ยนสถานะไปมาระหว่างสถานะรันและสถานะติดขัดไปเรื่อย ๆ ตามแต่การทำงานของโปรเซส จนกระทั่งโปรเซสจบสิ้นลง โปรเซสก็จะส่งมอบการทำงานคืนให้กับดอสและดอสก็พร้อมที่จะรับงานจากผู้ใช้ต่อ ไป
-
การจัดการหน่วยความจำ
เนื่องจากดอสเป็นระบบปฏิบัติการที่ถูกสร้างขึ้นมาใช้กับไมโครคอมพิวเตอร์ของ บริษัทไอบีเอ็มโดยตรง ทำให้การทำงานหลายอย่างต้องขึ้นกับฮาร์ดแวร์ของเครื่องด้วย หน่วยความจำก็เช่นเดียวกัน ดอสต้องจัดการเนื้อที่ในหน่วยความจำของไมโครคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีขนาดจำกัดเพียง 640 กิโลไบต์ (1 กิโลไบต์ = 1024 ไบต์) เท่านั้น ( หน่วยความจำส่วนนี้เป็นหน่วยความจำประเภทแรม) ความจริงแล้วตามสถาปัตยกรรมของไมโคร โปรเซสเซอร์ 8088 ( ซึ่งเป็นซีพียูของไมโครคอมพิวเตอร์ที่ไอบีเอ็มเลือกใช้) สามารถอ้างหน่วยความจำได้มากถึง 1 เมกกะไบต์ (1024 กิโลไบต์) แต่สาเหตุที่เหลือหน่วยความจำเพียงแค่ 640 กิโลไบต์ให้ดอสจัดการนั้น เป็นเพราะส่วนที่เกิน 640 กิโลไบต์ เป็นส่วนที่ถูกจองไว้ใช้สำหรับการทำงานของระบบ เช่น เป็นหน่วยความจำสำหรับข้อมูลบนจอภาพที่เรียกว่าวีดีโอแรม (video RAM) หรือเป็นหน่วยความจำประเภทรอม เป็นต้น
สำหรับไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นหลัง ๆ จะใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ 80286 หรือ 80386 เป็นซีพียู ซีพียูทั้ง 2 เบอร์นี้มีหน่วยความจำพิเศษเพิ่มมาเรียกว่า extended memory ซึ่งเป็นหน่วยความจำที่อยู่เกินหน่วย ความจำธรรมดา (conventional memory) ขนาด 1 เมกกะไบต์ขึ้นไปทำให้สามารถใช้หน่วยความจำได้มากกว่า 1 เมกกะไบต์ขึ้นไปได้จนถึง 16 เมกกะไบต์ในกรณีของ 80286 และถึง 2 จิกะไบต์ (1 จิกะไบต์ =1024 เมกกะไบต์) ในกรณีของ 80386 แต่อย่างไรก็ตามดอสไม่สามารถจัดการหน่วยความจำในส่วนที่เกิน 1 เมกกะไบต์นั้นได้
การจัดการหน่วยความจำของดอสเป็นแบบง่าย ๆ คือ ใช้การจัดสรรแบบต่อเนื่องในระบบโปรแกรมเดี่ยว ดอสจะเข้าไปกินเนื้อที่อยู่ในหน่วยความจำส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือจะเป็นพื้นที่ว่างที่ดอสจะโหลดเอาโปรแกรมของผู้ใช้เข้าไปไว้ ถ้าโปรแกรมของผู้ใช้มีขนาดโตกว่าส่วนที่เหลือนี้โปรแกรมนั้นก็จะทำงานไม่ได้ เว้นแต่เป็นโปรแกรมที่มีการทำงานแบบโอเวอร์เลย์ (ดูรายละเอียดในบทที่ 4) เมื่อโปรแกรมของผู้ใช้เสร็จสิ้นลงก็จะคืนเนื้อที่ในหน่วยความจำให้กับดอส เพื่อใช้สำหรับโปรแกรมอื่น ๆ ต่อไป
-
ดิสก์และระบบไฟล์
ดอสมีการจัดวางรูปแบบเนื้อที่หน่วยความจำในดิสก์เป็นของตนเองเรียกว่า การทำฟอร์แมต ( format) ก่อนใช้งานดิสก์ก็จะต้องนำแผ่นดิสก์มาผ่านการฟอร์แมตเสียก่อน ซึ่งดอสมีโปรแกรมสำหรับการทำฟอร์แมตไว้ให้แล้ว การทำฟอร์แมตจะเป็นการกำหนดขนาดของเซกเตอร์แทร็ก และวงรอบของดิสก์ ซึ่งจะมีขนาดเท่าใดขึ้นอยู่กับชนิดของแผ่นดิสก์ว่าเป็นดิสก์ประเภทใด และเป็นดอสเวอร์ชั่นใดตัวอย่างเช่นในดอสเวอร์ชั่น 1.1 กำหนดให้ดิสก์ขนาด 5.25 นิ้ว มี 8 เซกเตอร์ต่อแทร็ก 2 แทร็กต่อรอบวง และมี 40 วงรอบ แต่สำหรับดอสเวอร์ชั่น 2.0 กำหนดให้มี 9 เซกเตอร์ต่อแทร็ก 2 แทร็กต่อรอบวง และมี 40 วงรอบ ดังนั้นความจุของดิสก์จึงไม่เท่ากัน
ดอสแบ่งเนื้อที่ในดิสก์ออกเป็น 4 ส่วน โดยเริ่มจากเซกเตอร์แรกตามลำดับดังนี้
- บูตเรคคอร์ด ( boot record) เป็นโปรแกรมขนาดสั้น ๆ ที่ใช้สำหรับการสตาร์ทอัฟเครื่องกินเนื้อที่ 1 เรคคอร์ด นอกจากนี้ยังเก็บรายละเอียดของดิสก์นั้นไว้ด้วย เช่น มีกี่เซกเตอร์ เซกเตอร์ขนาดเท่าไหร่ จำนวนไฟล์สูงสุดในรูท เป็นต้น
- ตารางการจัดสรรไฟล์ ( file allocation table :FAT) ดังที่กล่าวไว้แล้วในบทที่ 7 ว่าดอสใช้ ตารางการจัดสรรไฟล์เพื่อเก็บรายละเอียดว่า บล็อกข้อมูลของไฟล์แต่ละไฟล์ถูกเก็บไว้ที่ไหนในแผ่นดิสก์ ขนาดของ ตารางการจัดสรรไฟล์มีตั้งแต่ขนาด 2-18 เซกเตอร์ ขึ้นอยู่กับขนาดความจุของแผ่นดิสก์
- ไดเร็กทอรี่รากหรือรูท ซึ่งเก็บรายละเอียดของไฟล์ที่เก็บไว้ภายใต้ไดเร็กทอรี่นี้ โดยใช้เนื้อที่ 32 ไบต์ต่อไฟล์ ในส่วนของไดเร็กทอรี่นี้กินเนื้อที่ 7 เซกเตอร์ สำหรับดิสก์ที่มีความจุ 320,360 และ 720 ( ดิสก์ขนาด 3.5 นิ้ว) กิโลไบต์ ทำให้ในรูทมีไฟล์ได้มากที่สุด 112 ไฟล์ และกินเนื้อที่ 14 เซกเตอร์ สำหรับดิสก์ที่มีความจุ 1.2 และ 1.44 ( ดิสก์ขนาด 3.5 นิ้ว) เมกกะไบต์ทำให้รูทมีไฟล์ได้มากที่สุด 224 ไฟล์
- ส่วนเก็บข้อมูล เป็นเนื้อที่ส่วนที่เหลือทั้งหมดในแผ่นดิสก์ ซึ่งใช้เก็บข้อมูลของไฟล์จริง ๆ
- ชื่อไฟล์และส่วนขยาย ในส่วนนี้ดอสใช้ 8 ไบต์สำหรับเก็บชื่อไฟล์ และ 3 ไบต์ สำหรับเก็บส่วนขยายหรือนามสกุลของไฟล์ นั้นคือเราสามารถตั้งชื่อไฟล์ได้ยาว 8 ตัวอักษร และมีส่วนขยายได้ 3 ตัวอักษร แต่เวลาอ้างถึงชื่อไฟล์จริง ๆ เราใช้เครื่องหมายจุด “.” ในการแยกชื่อและส่วนขยายของไฟล์
- แอตตริบิ้ว ( attribute) มีขนาด 1 ไบต์ เป็นส่วนที่เก็บลักษณะประเภทของไฟล์ ซึ่งแต่ละบิตในแอตตริบิ้วมีความหมายดังนี้
- ไฟล์อ่านอย่างเดียว ( read-only file) เป็นบิตขวาสุด ถ้าบิตนี้เป็น 1 หมายความว่าไฟล์นั้นเป็นไฟล์ที่อ่านได้อย่างเดียว เขียนทับไม่ได้และลบไม่ได้ มีไว้เพื่อป้องกันการแก้ไขข้อมูลไฟล์
- ไฟล์ซ่อน ( hidden file) ถ้าบิตนี้เป็น 1 หมายความว่าจะไม่เห็นไฟล์นั้น เมื่อใช้คำสั่งแสดงรายชื่อไฟล์ในไดเร็กทอรี่ และการค้นหาไฟล์ในไดเร็กทอรี่ก็จะข้ามไฟล์นี้ไป คำสั่งเกี่ยวกับไฟล์ บางคำสั่งจะใช้กับไฟล์ที่เป็นไฟล์ซ่อนไม่ได้ เช่น การแสดงรายชื่อไฟล์การก๊อปปี้ไฟล์ การลบไฟล์ การเปลี่ยนชื่อไฟล์ เป็นต้น
- ไฟล์ของระบบ ( system file) ถ้าบิตนี้เป็น 1 หมายความว่าไฟล์นี้เป็นของระบบปฏิบัติการ และไฟล์นี้จะถูกข้ามไปในการค้นหาไฟล์ในไดเร็กทอรี่
- ป้ายชื่อ ( volume lable) ถ้าบิตนี้เป็น 1 หมายความว่าไดเร็กทอรี่ช่องนี้ไม่ได้เป็นไฟล์ แต่เป็นป้ายชื่อของดิสก์ (volume lable) แทน โดยใช้ส่วนของชื่อและส่วนขยายเป็นป้ายชื่อของดิสก์ ดังนั้นป้ายชื่อของดิสก์จึงมีความยาวได้มากถึง 11 ตัวอักษร เท่ากับชื่อไฟล์รวมส่วนขยาย
- ไดเร็กทอรี่ย่อย ( sub-directory) ถ้าบิตนี้เป็น 1 หมายความว่าช่องนี้เป็นไดเร็กทอรี่ย่อย ชื่อและส่วนขยายของช่องนี้จะเป็นชื่อและส่วนขยายของไดเร็กทอรี่ย่อย และเนื้อหาข้อมูลของไฟล์ (ไดเร็กทอรี่ย่อยนี้) จะมีลักษณะเป็นโครงสร้างของไดเร็กทอรี่ เก็บรายละเอียดเกี่ยวกับไฟล์ต่าง ๆ ภายใต้ไดเร็กทอรี่ย่อยนี้
- บิตถาวร ( archive bit) ใช้สำหรับการสำรองไฟล์ (back up) ดอสมีคำสั่งพิเศษสำหรับการสำรองไฟล์ เมื่อเราใช้คำสั่งรองไฟล์กับไฟล์ใด จะมีการก๊อปปี้ไฟล์นั้นไว้ และเซ็ตบิตถาวรของไฟล์ ต้นฉบับให้เป็น 1 ถ้ามีการแก้ไขไฟล์ต้นฉบับนี้บิตถาวรจะถูกเปลี่ยนเป็น 0 เพื่อให้โปรแกรม ( คำสั่งสำรองไฟล์) ทราบว่ามีการแก้ไขข้อมูลในไฟล์ต้นฉบับนี้แล้ว การสำรองครั้งต่อไปควรสำรองไฟล์ที่มีบิตถาวรเป็น 0 ใหม่ ส่วนไฟล์ที่มีบิตถาวรเป็น 1 ไม่ต้องก๊อปปี้ใหม่ เพราะไม่ได้ถูกแก้ไข ไฟล์ปกติทั่ว ๆ ไปจะมีบิตถาวรเป็น 0 อยู่แล้ว
- อีก 2 บิตที่เหลือไม่ได้ถูกใช้งาน
- ส่วนที่ถูกจองไว้โดยดอส มีความยาว 10 ไบต์ เป็นส่วนที่อนุญาตให้โปรแกรมใช้งานได้ ดอสไม่ได้ใช้ประโยชน์กับส่วนนี้
- เวลา เป็นเวลาที่สร้างหรือแก้ไขข้อมูลในไฟล์นั้นครั้งหลังสุด ส่วนนี้กินเนื้อที่ 2 ไบต์
- วันท ี่ เป็นวันที่ที่สร้างหรือแก้ไขข้อมูลในไฟล์นั้นครั้งหลังสุด ส่วนนี้กินเนื้อที่ 2 ไบต์ เช่นกัน
- คลัสเตอร์ ( cluster) แรกของไฟล์ ดังที่กล่าวไว้ในบทที่ 7 ว่า ดอสใช้ตารางการจัดสรรไฟล์ (FAT) ในการเก็บรายละเอียดว่าบล็อกข้อมูลของไฟล์อยู่ที่ไหนบ้างในดิสก์ แต่บล็อกแรกของไฟล์จะถูกเก็บไว้ที่ ไดเร็กทอรี่ ซึ่งก็คือส่วนนี้นั้นเอง ดอสเรียกบล็อกในดิสก์ว่า คลัสเตอร์ซึ่งอาจจะมีขนาด 1 เซกเตอร์, 2 เซกเตอร์ หรือมากกว่าแล้วแต่ชนิดของดิสก์คลัสเตอร์แรกของไฟล์ก็จะเป็นตัวเริ่มต้นที่ จะไปหาว่าบล็อกถัดไปของไฟล์อยู่ที่ใด โดยไล่ไปตามตารางการจัดสรรไฟล์
- ขนาดของไฟล์ เป็นส่วนที่ระบุขนาดความยาวของไฟล์ว่ามีความยาวกี่ไบต์ โดยส่วนนี้จะมีความยาว 4 ไบต์
- โครงสร้างของดอส
เราอาจแบ่งโครงสร้างของดอสได้ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ติดอยู่กับฮาร์ดแวร์ของเครื่องมี ชื่อว่ารอมไบออส (ROM BIOS) และส่วนที่อยู่บนแผ่นดิสก์ ซึ่งประกอบไปด้วยบูตเรคคอร์ด (boot record) ไฟล์ MS-DOS.SYS ไฟล์ IO.SYS และไฟล์ COMMAND.COM
- รอมไบออส ( ROM-BIOS)
ย่อมาจาก Read Only Memory-Basic Input Output System คือโปรแกรมที่ควบคุมอุปกรณ์พื้นฐานด้านอินพุตและเอาต์พุตของเครื่องไมโคร คอมพิวเตอร์ทั้งหมด โปรแกรมนี้จะถูกเก็บอยู่ในรอมจะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามดอสเวอร์ชันต่าง ๆ แต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามฮาร์ดแวร์ของเครื่องพีซีรุ่นต่าง ๆ แทน นั่นคือจะเป็นส่วนที่เกิดขึ้นกับฮาร์ดแวร์ของเครื่อง ROM-BIOS จะไม่สามารถทำการเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะเก็บอยู่ในเครื่องตลอด ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ROM-BIOS จะเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมากกว่าที่จะเป็นส่วนหนึ่งของดอส
สำหรับผู้ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช่ไอบีเอ็มก็อาจมีไบออสเป็นของตนเอง ซึ่งต่างกับไบออสของไอบีเอ็ม เพราะเขาอาจใช้อุปกรณ์ที่แตกต่างกันออกไป มีวิธีควบคุมที่ต่างกัน และหลีกเลี่ยงเรื่องลิขสิทธิ์ แต่โดยหน้าที่การทำงานแล้วก็ยังคงเหมือนกัน ดังนั้นไบออสจึงเป็นส่วนที่ขึ้นกับฮาร์ดแวร์เป็นอย่างมาก ถ้าฮาร์ดแวร์ของผู้ผลิตมีลักษณะที่ต่างกันเขาต้องเปลี่ยนแปลงไบออสของเขาตาม ไปด้วย ไบออสเป็นโปรแกรมหรือรูทีนให้ส่วนอื่น ๆ ของดอสหรือโปรแกรมต่าง ๆ เรียกใช้เมื่อต้องการควบคุมอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ของเครื่อง
ภายใน ROM-BIOS จะมีโปรแกรมอยู่หลายโปรแกรม ดังนี้
-
โปรแกรมตรวจสอบตัวเองหรือ Self-test-routine
เป็นโปรแกรมที่จะเริ่มทำงานเป็นโปรแกรมแรกเมื่อมีการเปิดเครื่องขึ้นมา เครื่องจะทำงานตามโปรแกรมนี้โดยจะมีการตรวจสอบหน่วยความจำว่ามีขนาดเท่าไร และมีอุปกรณ์ใดบ้างที่มีการติดตั้งอยู่กับเครื่อง
-
โปรแกรมเริ่มการทำงานของดอส หรือที่เรียกว่าตัวปลุกเครื่อง ( Bootstrapper)
เป็นโปรแกรมที่ควบคุมให้มีการอ่านโปรแกรมบูตเรคคอร์ด ( Boot record) ซึ่งอยู่ในแทร็กวงนอกสุดของดิสก์เข้ามา เพื่อให้โปรแกรมบูตเรคคอร์ดทำการอ่านส่วนอื่น ๆ ของดอสเข้ามาอีกที
-
โปรแกรมควบคุมอุปกรณ์มาตรฐานต่างๆ หรือดีไวซ์ไดร์ฟเวอร์( Device Driver)
อุปกรณ์มาตรฐานต่าง ๆ เช่น เครื่องพิมพ์ แป้นพิมพ์ จอภาพ ดิสก์ไดรฟ์ จะมีโปรแกรมดีไวซ์ไดรฟ์เวอร์นี้เป็นตัวควบคุมการทำงาน และให้ผู้ใช้หรือโปรแกรมใด ๆ สามารถเรียกใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้
- บูตเรคอร์ด ( Boot Record)
หลังจากที่มีการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมในรอมไบออสได้ตรวจสอบการทำงานของเครื่องพีซีแล้ว ตัวปลุกเครื่องจะทำการอ่านบูตเรคอร์ดจากดิสก์ในตำแหน่งที่มีการระบุไว้ตาย ตัวเข้ามาไว้ในหน่วยความจำหลัก หลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของบูตเรคอร์ดที่จะทำการโหลดส่วนอื่น ๆ ของระบบปฏิบัติการจากแผ่นดิสก์เข้ามาสู่หน่วยความจำ และยกหน้าที่การควบคุมระบบเครื่องทั้งหมดให้กับระบบปฏิบัติการต่อไป
- IO.SYS
การแยก IO.SYS ออกไปจากไบออสยังมีข้อดีอีก 2 ประการ คือ ประการแรก ถึงแม้ว่าไบออสได้รับการออกแบบและตรวจสอบอย่างดีแล้วก่อนที่จะบรรจุลงรอม แต่ก็อาจตรวจพบความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ภายหลังการแก้ไขข้อผิดพลาดที่พบในรอมย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สะดวกอย่างมาก แต่ถ้าแก้ไข IO.SYS ให้ช่วยขจัดข้อ ผิดพลาดในไบออสย่อมเป็นสิ่งที่ง่ายกว่ามาก อีกประการหนึ่งคือในกรณีที่มีอุปกรณ์ใหม่ ๆ เพิ่มเติมเข้ามาในระบบ เราก็จะเพิ่มโปรแกรมควบคุมอุปกรณ์หรือตัวขับอุปกรณ์ใหม่ๆ เหล่านั้นเข้าไปในระบบ สำหรับดอสเวอร์ชั่น 2.0 ขึ้นไป การเพิ่มเติมตัวขับอุปกรณ์เข้าไปในระบบทำได้ง่ายมาก เพียงแต่มีไฟล์โปรแกรมตัวขับอุปกรณ์อยู่และใส่ ชื่อไฟล์เหล่านั้นลงในไฟล์ที่ชื่อ CONGIG.SYS เท่านั้น ตอนบูตเครื่องดอสก็จะนำเอาตัวขับอุปกรณ์เหล่านั้น รวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของดอสด้วย
- MSDOS.SYS
ทั้งไฟล์ IO.SYS และ MS-DOS.SYS เป็นไฟล์ระบบและไฟล์ซ่อนด้วย ดังนั้นเมื่อสั่งให้แสดงรายชื่อไฟล์จะไม่เห็นไฟล์ทั้ง 2 นั้น IO.SYS และ MS-DOS.SYS เป็นชื่อของไฟล์สำหรับเอ็มเอสดอส ในพีซีดอสใช้ชื่อ IBMIO.COM แทน IO.SYS และใช้ IBMDOS.COM แทน MS-DOS.SYS
- COMMAND.COM
-
การสตาร์ทอัฟ
ขั้นตอนการเริ่มต้นการทำงานหรือการบูตเครื่องนั้นเกิดขึ้นเมื่อ
- เริ่มต้นเปิดสวิตซ์ของเครื่อง หรือ
- กดแป้น Ctrl Alt Del 3 ปุ่มพร้อมกันหรือ
- กดปุ่มรีเซ็ต ( reset)
ในขั้นนี้ IO.SYS จะเป็นผู้ควบคุมการทำงานของเครื่องแทนบูตเรคคอร์ด IO.SYS จะหาชื่อไฟล์ที่ชื่อ CONFIG.SYS แล้วตรวจสอบข้อมูลของไฟล์นี้ IO.SYS จะโหลดเอาตัวขับอุปกรณ์ที่ถูกระบุในไฟล์ CONFIG.SYS เข้าไปไว้ในหน่วยความจำเพื่อร่วมกันทำงาน นอกจากนี้ยังทำการกำหนดลักษณะต่าง ๆ ของระบบตามที่ระบุไว้ใน CONFIG.SYS อีกด้วย เช่น จำนวนไฟล์ที่เปิดได้มากที่สุดในเวลาเดียวกัน ขนาดของบัฟเฟอร์สำหรับดิสก์ เป็นต้น
ต่อจากนั้น IO.SYS จะโหลดเอา COMMAND.COM เข้ามาในหน่วยความจำ และส่งมอบการทำงานให้ COMMAND.COM จะค้นหาไฟล์ที่ชื่อ AUTOEXEC.BAT และทำงานตามคำสั่งในไฟล์นั้น AUTOEXEC.BAT เป็นแบตซ์ไฟล์ที่รวบรวมคำสั่งต่าง ๆ ของดอสเอาไว้เป็นชุด และดอสจะทำงานตามลำดับของคำสั่งนั้นทุก ๆ ครั้งที่บูตเครื่อง คำสั่งเหล่านี้ผู้ใช้เป็นผู้กำหนดเองโดยกำหนดในไฟล์ที่ชื่อว่า AUTOEXEC.BAT เท่านั้น เมื่อ COMMAND.COM ทำงานตามคำสั่งในไฟล์ AUTOEXEC.BAT เสร็จเรียบร้อยแล้ว มันก็จะแสดงเครื่องหมายพร้อมต์ออกทางที่จอภาพและคอยรับคำสั่งจากผู้ใช้ต่อไป คำสั่งที่ COMMAND.COM รับมาจากผู้ใช้จะถูกแปลความหมายว่าต้องการอะไร แล้วจึงเรียกใช้โปรแกรมต่าง ๆ ในส่วนของ MS-DOS.SYS ทำงานให้
คำสั่งต่าง ๆ ของดอสแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ คำสั่งภายใน (Internal command) และ คำสั่งภายนอก (External command) ซึ่งมีความแตกต่างกันคือ คำสั่งภายในคือคำสั่งที่ COMMAND.COM รับจากผู้ใช้แล้วสามารถทำงานให้ได้ทันที ตัวอย่างของคำสั่งเหล่านี้ได้แก่
คำสั่งภายในของดอสความหมายcopy ก๊อปปี้ไฟล์ del , delete, era, หรือ erase ลบไฟล์ rename หรือ ren เปลี่ยนชื่อไฟล์ date แสดงและเปลี่ยนวันที่ให้กับเครื่อง time แสดงและเปลี่ยนเวลาให้กับเครื่อง cd เปลี่ยนไดเร็กทอรี่ปัจจุบัน md สร้างไดเร็กทอรี่ย่อย rd ลบไดเร็กทอรี่ย่อย
คำสั่งภายนอกของดอสความหมายformat ใช้สำหรับฟอร์แมตแผ่นดิสก์ tree แสดงโครงสร้างของระบบไฟล์ label แสดงป้ายชื่อของดิสก์ attrib เปลี่ยนแอตตริบิ้วของไฟล์ backup สำเนาไฟล์ diskcopy ก๊อปปี้ดิสก์ทั้งแผ่น
-
ลักษณะอื่น ๆ ของดอส
ดอสเป็นระบบปฏิบัติการที่มีระบบไฟล์หลายระบบ ในแผ่นดิสก์แต่ละแผ่นจะเก็บระบบไฟล์ไว้หนึ่งระบบ ซึ่งต่างกับยูนิกซ์ที่มีระบบไฟล์เพียงระบบเดียว ผู้ใช้ทุกคนอยู่ในระบบไฟล์เดียวกันเพียงแต่อยู่ต่าง ไดเร็กทอรี่ย่อยเท่านั้น แต่ดอสแยกระบบไฟล์ออกไปเลย ตามตัวขับดิสก์หรือดิสก์ไดร์ฟ ดอสกำหนดให้ระบบมีดิสก์ไดร์ฟอย่างน้อย 2 ตัว คือ A: และ B: ( โดยที่เราอาจมีดิสก์ไดร์ฟจริง ๆ 1 หรือ 2 ตัวก็ได้) ถ้าเรามีดิสก์ไดร์ฟ ( ขอเรียกสั้น ๆ ว่าไดร์ฟ) เพิ่มขึ้นอีก ดอสก็จะให้เป็นไดร์ฟ C: D: และต่อ ๆ ไปตามจำนวนที่มีเพิ่ม
การอ้างถึงไฟล์ต่าง ๆ นอกจากจะต้องกำหนดพาธ ( path) และชื่อไฟล์แล้ว ยังต้องกำหนดไดร์ฟ (ระบบไฟล์) ของไฟล์ด้วย เช่น การอ้างถึงไฟล์ TEST.DAT ในไดร์ฟ A: จะอ้างได้เป็น A:TEST.DAT เป็นต้น หมายถึงเป็นไฟล์ที่อยู่ในดิสก์ไดร์ฟ A: เป็นต้น
ในทำนองเดียวกันกับแนวคิดของไดเร็กทอรี่ปัจจุบัน ดอสก็มีไดร์ฟปัจจุบัน (current drive) ด้วยเช่นกัน ถ้าการอ้างถึงไฟล์ไม่มีการกำหนดไดร์ฟของไฟล์ ดอสก็จะถือว่าไฟล์ที่อ้างถึงนั้นเป็นไฟล์ในไดร์ฟปัจจุบัน ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนไดรฟ์ปัจจุบันได้เหมือนกับที่สามารถเปลี่ยนไดเร็กทอรี่ ปัจจุบัน โดยปกติแล้วเครื่องหมายพร้อมต์จะบอกไดร์ฟปัจจุบันไว้แล้ว เช่น เครื่องหมายพร้อมต์เป็นดังนี้
A:\> หมายความว่าไดร์ฟปัจจุบันคือ ไดร์ฟ A
วิธีการเปลี่ยนไดร์ฟปัจจุบันนั้นง่ายมาก เพียงแค่ใส่ชื่อไดร์ฟที่ต้องการให้เป็นไดร์ฟปัจจุบันและตามด้วยเครื่องหมาย “:” เท่านั้น เช่น ไดร์ฟปัจจุบันคือ A ต้องการเปลี่ยนให้เป็น B ให้ใส่คำสั่งให้กับดอสดังนี้
A:\>B:
ดอสจะเปลี่ยนไดร์ฟปัจจุบันเป็นไดร์ฟ B และจะแสดงเครื่องหมายพร้อมต์เป็น B:\>
0 comments:
Post a Comment